นักวิจัย SOLGEN ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลชุมชนเตรียมศึกษาประวัติศาสตร์กรุงชิง

โครงการศึกษาเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติพื้นที่กรุงชิงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ลงสำรวจพื้นที่เพื่อหาแนวทางศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน พบว่าชุมชนมีศักยภาพในหลายด้าน  ขณะเดียวกันชาวบ้านได้สะท้อนปัญหาที่ประสบอยู่เช่นกัน เตรียมขยับเพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป

ระหว่างวันที่ 28-29 กรกฎาคม 2566 คณะวิจัยของโครงการศึกษาเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติพื้นที่กรุงชิงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะวิจัยประกอบด้วย ผศ.ดร.วิทยา อาภรณ์ อาจารย์ปกรณ์สิทธิ์ ฐานา สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป  รศ.ดร.อรอนงค์ เฉียบแหลม สำนักวิชาการจัดการ และดร.สัจจารีย์ ศิริชัย สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ พร้อมกับนักศึกษา ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเบื้องต้นที่ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยในวันที่ 28 กรกฎาคม ได้สนทนากลุ่มกับชาวบ้านตำบลกรุงชิงที่ที่ทำการกลุ่มมัดย้อมพออวด บ้านพิตำ ตำบลกรุงชิงเกี่ยวกับสภาพทั่วไปของตำบลกรุงชิง ศักยภาพและปัญหาที่พบในชุมชนทั้งในด้านการประกอบอาชีพ สภาพด้านสังคมวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การปรับเปลี่ยนด้านต่างๆที่เกิดขึ้น เป็นต้น    หลังจากนั้น ชาวบ้านได้พาคณะวิจัยลงสำรวจพื้นที่ คือ เส้นทางท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง และถ้ำขุนคลัง

ต่อมาในวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 คณะวิจัยได้ร่วมล่องแก่งกรุงชิงซึ่งเป็นการจัดการท่องเที่ยวที่ให้บริการโดยชุมชน  โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ร่วมบันทึกข้อมูลการลงพื้นที่โดยตลอด

ทั้งนี้โครงการ “การศึกษาประวัติศาสตร์กรุงชิงเพื่อพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน”เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินการวิจัยในพื้นที่ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทีมวิจัยประกอบด้วยคณาจารย์จากสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ และสำนักวิชาการจัดการ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนักวิจัยชาวบ้าน