มวล.จับมือชุมชน-รัฐ-เอกชน ร่วมศึกษาประวัติชุมชนกรุงชิง
โครงการศึกษาเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติพื้นที่กรุงชิงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับชุมชน อบต. เจ้าหน้าที่ป่าไม้ โรงเรียน องค์กรเอกชน และบุคคลที่สนใจจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโดยชุมชนมีส่วนร่วม ผลการประชุมได้ตกลงที่จะดำเนินการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนกรุงชิงร่วมกัน
วันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2566 และวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2566 ที่กรุงชิงโฮมสเตย์ แอนด์รีสอร์ท ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช คณะวิจัยของโครงการศึกษาเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติพื้นที่กรุงชิงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนประกอบด้วย ผศ.ดร.วิทยา อาภรณ์ อาจารย์ปกรณ์สิทธิ์ ฐานา สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป รศ.ดร.อรอนงค์ เฉียบแหลม สำนักวิชาการจัดการ และดร.สัจจารีย์ ศิริชัย สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ พร้อมนักวิจัยชาวบ้านรวมทั้งสิ้น 8 คน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ความสำคัญ แนวคิดและวิธีการในการจัดทำประวัติศาสตร์ชุมชนของกรุงชิง”ขึ้น โดยมีวิทยากรพิเศษจากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม และ ดร.อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม มีผู้เข้าร่วมการอบรมจากหลายฝ่ายจำนวน 65 คนคือ ชาวบ้านในตำบลกรุงชิง ครูจากโรงเรียนในตำบลกรุงชิง 4 โรง เจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติเขานันและอุทยานแห่งชาติเข้าหลวง เจ้าหน้าที่องค์การบริการส่วนตำบลกรุงชิง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจเอกชนในตำบลกรุงชิง เครือข่ายเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผู้ที่กำลังจะศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา และนครศรีธรรมราช และผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่สนใจกรุงชิงและทราบข่าวจึงติดต่อขอมาร่วมอบรมด้วย
เนื้อหาของการอบรม ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม และ ดร.อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม วิทยากรพิเศษจากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ได้บรรยายถึงแนวคิดและวิธีการในการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน รวมทั้งได้ยกประสบการณ์การศึกษาและประยุกต์ใช้ประวัติศาสตร์ชุมชนในพื้นที่อื่นทั้งในและต่างประเทศให้ผู้เข้าร่วมทราบ ต่อมาได้มีการระดมความต้องการของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาประวัติชุมชนกรุงชิง พบว่าแต่ฝ่ายเห็นประโยชน์ของการศึกษาประวัติชุมชนที่จะมีต่อการดำเนินงานของตน นอกจากนี้พบว่ามีหลายฝ่ายที่ได้เริ่มศึกษาประวัติของชุมชนบ้างแล้ว เช่น โรงเรียน ซึ่งต้องจัดการเรียนการสอนหลักสูตรท้องถิ่นให้แก่เด็กนักเรียน บางคนมีการเก็บรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้เชิงวัตถุวัฒนธรรมไว้บ้างแล้ว
ผลจากการประชุม ที่ประชุมได้ตกลงที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนกรุงชิงร่วมกัน โดยจะนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ที่วัดบ่อน้ำร้อน ตำบลกรุงชิง ในวันดังกล่าวจะมีการพิจารณากรอบคำถาม แนวทางในการเก็บข้อมูล การจัดตั้งศูนย์ข้อมูล เป็นต้น







