สารจากคณบดีสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป

รายงานผลการดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 ของสำนักวิชา

เรียน ผู้เข้ามาเยี่ยมชมทุกท่าน

ในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา (1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564) นับเป็นอีกหนึ่งปีแห่งเป็นความท้าทายสำหรับการปฏิบัติงานของสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป เนื่องจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2563 สำนักวิชามีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้

ด้านการพัฒนาองค์กร

  • จัดทำนโยบายการบริหารสำนักวิชา 16 ด้าน และแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2564 – 2568 เป็นแนวทางการบริหารจัดการสำนักวิชา ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรทางวิชาการด้านการศึกษาทั่วไปชั้นนำของประเทศไทย”
  • สร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรในทุกมิติ ทำให้คะแนนการประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับสำนักวิชาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 3.90 ในปี 2563 เป็น 4.87 ในปี 2564 เป็นคะแนนที่สูงขึ้นถึง 125%
  • พัฒนาระบบการกำกับดูแลองค์การ บริหารความเสี่ยง และ ควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผลสำเร็จของหน่วยงานคิดเป็นคะแนนเท่ากับ 36.46 หรือ 91.2% จากคะแนนเต็ม 40 และเป็นคะแนนที่สูงขึ้นถึง 105% จาก 32.80 ในปีงบประมาณ 2563
  • เพิ่มจำนวนอาจารย์ที่ได้รับประกาศนียบัตรการเป็นผู้สอนมืออาชีพตามกรอบ UKPSF จาก 20 เป็น 40 คน คิดเป็น 91% ของจำนวนอาจารย์ทั้งหมดที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ 44 คน
  • เพิ่มจำนวนอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการจาก 6 เป็น 11 คน และมีอาจารย์ 5 คน ที่ผลงานกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ
  • เพิ่มจำนวนอาจารย์ที่มีคุณวุฒิปริญญาเอกจาก 13 เป็น 18 คน
  • จัดทำจดหมายข่าวรายเดือนของสำนักวิชา (SOLGEN Newsletter) เพื่อสื่อสารกับสาธารณชน

ด้านการจัดการเรียนการสอน

 
  • ปฏิรูปโครงสร้างหมวดการศึกษาทั่วไป พ.ศ. 2564 เพื่อพัฒนานักศึกษาให้พร้อมกับโลกยุค Next Normal เพิ่มรายวิชาภาษาจีน ปัญญาประดิษฐ์ และธุรกิจในโลกยุค Post-COVID
  • พัฒนาคุณภาพการสอนทั้งแบบ Onsite และ Online : อาจารย์ทุกคนได้รับผลประเมินการสอนในระดับ 4.00 ขึ้นไป จาก 5.00 และ 38% ได้ผลประเมินในระดับ 4.50 ขึ้นไป
  • ส่งเสริมการเรียนรู้ในทุกที่ทุกเวลาของนักศึกษา : จัดทำ 100% ของรายวิชาในหมวดการศึกษาทั่วไปบนระบบ WU e-learning
  • ลดสัดส่วนของนักศึกษาที่ได้รับเกรด F จากการเรียนหมวดการศึกษาทั่วไปเหลือเพียง 0.1%
  • พัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของนักศึกษา ทำให้จำนวนนักศึกษาแรกเข้าที่มีความสามารถในระดับ CEFR A1 ลดลงจาก 805 เป็น 235 คน ภายในระยะเวลา 2 ปี ขณะเดียวกันก็เพิ่มจำนวนนักศึกษาในระดับ A2 จาก 627 เป็น 1,021 คน และระดับ B1 เพิ่มจาก 69 เป็น 243 คน
  • จัดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นประจำทุกเดือน
  • จัดทำสื่อสมัยใหม่เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษา อาทิ วิดีโอแนะนำรายวิชา และวิดีโอแนะนำการเตรียมตัวก่อนสอบ เป็นต้น เพื่อให้การบริการมีความทันสมัย มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองตรงตามความต้องการของนักศึกษา

ด้านการวิจัย

  • เพิ่มจำนวนบทความตีพิมพ์ในฐานข้อมูล SCOPUS จาก 27 เป็น 48 บทความ
  • ยกระดับคุณภาพของงานวิจัย เพิ่มสัดส่วนของบทความวิจัยในวารสารระดับ Q1 และ Q2 จาก 62% เป็น 85%
  • เพิ่มสัดส่วนของจำนวนบทความวิจัยต่ออาจารย์จาก 48.2% เป็น 60% นับเป็นค่าที่สูงที่สุดอันดับ 1 ของสำนักวิชากลุ่มสังคมศาสตร์ และ อันดับ 3 ของสำนักวิชาทั้งหมดในมหาวิทยาลัย โดยเป็นความสำเร็จต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ของสำนักวิชา
  • ขยายความร่วมมือทางวิชาการในระดับนานาชาติ : 21% ของจำนวนบทความในวารสารระดับ Q1 และ Q2 เป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับนักวิชาการจากสถาบันในต่างประเทศ
  • เพิ่มทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอกจาก 1,540,695 เป็น 8,596,952 บาท คิดการเพิ่มขึ้น 558%

ด้านบริการวิชาการ

  • เพิ่มจำนวน “โครงการบริการวิชาการเชิงสังคม” จาก 3 เป็น 11 โครงการ
  • จัดทำ “โครงการบริการวิชาการภาษาอังกฤษ” ซึ่งมีบริการภาษาอังกฤษต่างๆ เช่น ศูนย์ทดสอบ WUTEP, English Camp, ศูนย์ตรวจสอบภาษาอังกฤษ, การอบรมผู้สอนภาษาอังกฤษ และ ศูนย์อบรม TOEIC
  • เพิ่มรายได้จากการบริการวิชาการจาก 139,800 เป็น 249,750 บาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 179%

ด้านการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ

 
  • ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (Memorandum of Understanding: MOU) กับโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ในเรื่องการจัดทดสอบและอบรมภาษาอังกฤษ
  • ลงนาม MOU กับ Batangas State University ประเทศฟิลิปปินส์ ในเรื่องการร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 1 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันถึงพลังและความมุ่งมั่นของบุคลากรทุกคนของสำนักวิชาฯ ที่ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเป็นกำลังหลักที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยและโลก ต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา
รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป
ตุลาคม 2564

ผศ.ดร. พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา